top of page
Writer's picturetriyuth promsiri

Digital Transformation ทางรอดของผู้ประกอบการเมื่อต้องพาธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล


การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นแนวคิดที่มีการพูดถึงตั้งแต่ราว 30 ปีก่อน ที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงานของมนุษย์ แต่ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมามีการพูดถึงอย่างแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากความพร้อมของเทคโนโลยีที่พอเหมาะพอดี เกิด Digital Disruption ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลต่อรูปแบบของการทำธุรกิจ โมเดลธุรกิจ พฤติกรรมของลูกค้า ความต้องการของลูกค้า และสิ่งที่ลูกค้าให้คุณค่า รวมถึงกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม


ผู้บริหารหรือนักธุรกิจทุกคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับกระแสคลื่นลมครั้งนี้ให้ทันเวลา แต่ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่าน เราจำเป็นต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน


เส้นทางสู่การเปลี่ยนผ่าน

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ไม่ใช่เพียงการสร้างเว็บไซต์ ซื้อเครื่องจักรสุดทันสมัย หรือแปลงข้อมูลของบริษัทให้เป็นไฟล์ดิจิทัล แต่หัวใจสำคัญก็คือ การคิดอย่างเป็นดิจิทัล มองกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบ และความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างยืดหยุ่น ดังที่ Michael Porter ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีทางเศรษฐกิจ กลยุทธ์ธุรกิจแห่ง Harvard Business School ได้อธิบายไว้ว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล คือ กลยุทธ์ที่จะนำพาธุรกิจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายไอที แต่เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่เจ้าของกิจการและพนักงานทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันเรียนรู้ และลงมือทำไปด้วยกัน



เริ่มต้นจากการทบทวนคุณค่าของธุรกิจเดิมว่าจะขยับไปสู่การขับเคลื่อนแบบดิจิทัลได้อย่างไรบ้าง ทดลองโมเดลง่าย ๆ เพื่อทดสอบสมมติฐานแล้วจึงค่อย ๆ ขยับขยายให้ใหญ่ขึ้น ตามมาด้วยการสื่อสารกับคนในองค์กรทุกฝ่าย ให้ปรับวิธีคิด เรียนรู้แนวคิดใหม่ เรียนรู้วิธีการใหม่ในการทำงานเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่ลืมสร้างรับฟังความคิดเห็น สานความสัมพันธ์ ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด หมั่นกลับมาทบทวน เพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ความเป็นไปของบริบททางเศรษฐกิจและสังคมอันมีวิธีคิดแบบดิจิทัลเป็นพื้นฐาน

แหล่งอ้างอิง: https://skyteam-it.com/digital-transformation-framework/




รู้รอบก่อนลงมือ

ศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลนั้นมีหลากหลายรูปแบบ หลายวิธีการแต่ที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับทุกธุรกิจก็คือ องค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้


1. การสร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Build Data-Driven Culture)

ในแต่ละวันมนุษย์สร้างข้อมูลดิจิทัลขึ้นมามากมายมหาศาล การเลือกใช้ข้อมูลให้เป็นจึงสำคัญยิ่งกว่าการกอบโกยเป็นเจ้าของข้อมูลทั้งหมดไว้แต่ไม่รู้จะนำไปใช้ได้อย่างไร เช่น การมีเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้สร้างมูลค่าให้ธุรกิจได้เท่าการรู้ว่าเบอร์โทรศัพท์ใดที่มีการใช้งานติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ใช้งานในช่วงเวลาใดบ้าง และมีรายการสั่งซื้อสินค้าใดบ้าง


จากตัวอย่างง่าย ๆ ที่ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า “การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล” นั้นไม่ใช่เพียงมีข้อมูลแต่คือการนำข้อมูลที่ผ่านการคัดสรร และวิเคราะห์แล้วไปใช้สร้างกลยุทธ์ดึงดูดใจ สร้างแผนการผลิต วางระบบคลังสินค้า ออกแบบการจองคิวเข้ารับบริการ ฯลฯ ได้อีกมากมาย


แหล่งอ้างอิง: https://www.revealbi.io/blog/reveal-data-driven-decision-making


2. ทักษะการเป็นผู้นำในยุคดิจิทัล (Leadership in Digital World)

นอกจากวิสัยทัศน์ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้แล้ว ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการจำเป็นต้องมีทักษะของการเป็นผู้นำในยุคดิจิทัลซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ผู้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มีร่วมกัน ได้แก่ คิดสร้างสรรค์ เชื่อในพลังของนวัตกรรม (Innovative) ไม่ยึดติดกรอบเดิม พร้อมกระโจนสู่ความเสี่ยงที่ประเมินไว้ (Disruptive) แน่วแน่ในทุกการตัดสินใจ ยืดอกรับผิดชอบเมื่อผิดพลาด (Bold in Leadership) เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เชื่อมั่นในตัวเอง (Socially Adapt) มุ่งตรงไปที่เป้าหมาย มองหาความเป็นไปได้เสมอ (Determined)


แหล่งอ้างอิง: https://www.linkedin.com/pulse/innovation-five-habits-digital-transformation-leaders-robbert-de-haan/



3. การบริหารโครงการยุคใหม่ (Modern Project Management)



แหล่งอ้างอิง: https://www.smartsheet.com/triple-constraint-triangle-theory



ที่ผ่านมาการบริหารจัดการกระบวนการทำงานต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้จัดการโครงการเป็นสำคัญ​ แต่เมื่อต้องการจะปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล การใช้เครื่องมือตัวช่วยจัดการโครงการที่ติดตามผลการทำงานอัตโนมัติ ประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนถึงจุดที่จะเกิดปัญหา เพื่อบริหารเวลา ค่าใช้จ่าย และความต้องการให้งานออกมามีคุณภาพดีได้อย่างแม่นยำ

เครื่องมือที่เข้ามามีบทบาทในการทำงานรูปแบบใหม่ มีทั้งแบบที่ช่วยให้งานง่ายขึ้น เช่นระบบจัดการบัญชี ทำใบเบิกจ่าย ใบเสนอราคาที่เป็นแบบฟอร์มเฉพาะ คำนวณภาษีได้อย่างแม่นยำ ลดเวลาในการทำงานเดิมซ้ำ ๆ ระบบการสื่อสารในองค์กรที่ติดตามความคืบหน้าของงานได้อย่างละเอียด ไปจนถึงระบบ Automation ที่ทำงานได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง

โจทย์ที่ท้าทายของระบบเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ที่ความยากง่ายในการใช้งาน แต่อยู่ที่การจัดการความรู้สึก ความเคยชินของพนักงานที่เคยทำงานเดิมซ้ำ ๆ มาตลอด ว่าจะสามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเหล่านี้ได้อย่างไร



4. การทำธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม (The Business of Platforms)

ในศตวรรษนี้ เราน่าจะเห็นตรงกันว่ามีการผลิตเกิดขึ้นมากเพียงพอสำหรับมนุษย์ทุกคนแล้ว แต่กระบวนการจัดจำหน่าย การซื้อขายแบบเดิม ๆ ทำให้เราหาสิ่งต้องการไม่เจอ หรือคนขายก็หาลูกค้าไม่พบ ประกอบกับเทรนด์ที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น การสร้างพื้นที่ตรงกลาง ที่ทำให้ความต้องการซื้อกับความต้องการขายมาบรรจบพบกัน จึงเป็นอีกรูปแบบที่หลายธุรกิจปรับตัวเข้ามาร่วมแข่งขัน เนื่องจากไม่ต้องเป็นผู้ดูแลกระบวนการผลิต ไม่ต้องสร้างคลังสินค้า ไม่ต้องจ้างพนักงานส่งของ แต่เปลี่ยนมาสร้างการเชื่อมต่อที่ตอบโจทย์แทน


ย้ำตรงนี้ว่าแพลตฟอร์มไม่ได้จำกัดรูปแบบว่าจะต้องเป็นแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์เสมอไป แต่หัวใจสำคัญคือ การสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์การแลกเปลี่ยนและความเชื่อมั่นจากกลุ่มเป้าหมายทั้งสองฝั่ง



แหล่งอ้างอิง: เอกสารประกอบการเรียนหัวข้อ Business of Platforms สอนและออกแบบโดย คุณไผท ผดุงถิ่น ผู้ก่อตั้ง Builk เว็บแอพพลิเคชั่นสำหรับบริหารธุรกิจก่อสร้างรายแรกในเอเชีย


5. การระดมทุนยุคดิจิทัล (The Business of Platforms)

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอดีตอาจเป็นเรื่องยาก แต่ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยให้ไอเดียแปลงเป็นความจริงที่จับต้องได้ง่ายขึ้น การระดมทุนในยุคดิจิทัลจึงไม่ต้องง้อธนาคารอีกต่อไป แต่เราสามารถพิชชิงไอเดียให้ผู้คนในโซเชียลมีเดียทั่วโลกได้รับรู้และร่วมลงทุนผ่านตัวกลางอย่างแพลตฟอร์มที่เป็น Funding Portal

การระดมทุนที่ง่ายขึ้นทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และผู้ประกอบการเริ่มต้น (Startup) ในยุคปัจจุบันมีโอกาสพัฒนาตัวเองได้อย่างมั่นใจ วัดกันด้วยไอเดียที่แปลกใหม่และทำเงินได้จริง ไม่ต้องรอพิสูจน์ผ่านกาลเวลาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป



แหล่งอ้างอิง: https://ec.europa.eu/growth/tools-databases/crowdfunding-guide/what-is/explained_cs




มองให้ไกล ไปให้ถึง

เมื่อรู้แล้วว่าอะไรบ้างที่ต้องเปลี่ยนแปลง อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในอนาคต ว่าเราจะเลือกรับมาปรับใช้กับธุรกิจที่มีอยู่ได้อย่างไร Forbes เสนอเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่น่าจับตาสำหรับปี 2021 ไว้ดังนี้

  1. 5G มาถึงพอดีกับที่เกิดโรคระบาดไปทั่วโลก ซึ่งมีเงื่อนไขให้ผู้คนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำงาน การใช้ชีวิตของเราทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะรวมไปถึงการพัฒนา Internet of Things (IoT) อย่างก้าวกระโดดอีกด้วย

  2. Customer Data Platforms (CDP) เป็นอีกโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ สำหรับโลกที่ข้อมูลของเราแต่ละคนกระจัดกระจายอยู่ตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนับสิบนับร้อย แต่พฤติกรรมของเราแต่ละคนในแต่ละพื้นที่ล้วนแตกต่างกันออกไป การสร้างพื้นที่จัดเก็บข้อมูลลูกค้าสำหรับธุรกิจต่าง ๆ จากสารพัดแหล่งมารวมไว้ด้วยกัน จัดสรร แสดงผลให้นำไปใช้ได้ง่ายจึงเป็นอีกช่องทางสำหรับการจัดการข้อมูลให้เกิดผลสูงสุดต่อผู้ต้องการข้อมูล และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลด้วย

  3. Cybersecurity เป็นอีกประเด็นที่ทุกธุรกิจต้องไม่ละเลย การให้ความสำคัญเรื่องระบบความปลอดภัยออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะมีรายงานว่ามีความพยายามแฮ็กข้อมูลจากธนาคารทั่วโลกมากถึง 238% แค่เพียงในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน 2020 และมีความพยายามเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลอีกกว่า 600% คาดว่าเป็นเพราะความรัดกุมที่ลดลงระหว่างที่พนักงานนำงานกลับไปทำที่บ้านนั่นเอง

  4. Quantum computing อาจจะเป็นชื่อเรียกที่ไม่คุ้นเคย แต่คาดกันว่านี่จะเป็นขั้นกว่าของการ Disrupt ทางเทคโนโลยี เนื่องจาก เป็นนำทฤษฎีทางกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) มาใช้ประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที แม้จะยังอยู่ในช่วงทดลอง แต่โปรดติดตามอย่างใกล้ชิด หากมีการทดลองใช้งาน พัฒนาร่วมกับอุตสาหกรรมที่หลากหลายกว่านี้ เราน่าจะได้เห็นอีกก้าวที่มนุษยชาติจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นดิจิทัลที่ไม่เคยจินตนาการถึง


แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าโลกดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์อย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้อีกต่อไป ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งเท่านั้น ที่จะทำให้ธุรกิจของคุณก้าวทันอนาคต มาพบกันที่หลักสูตรการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล Digital Business Management https://www.neobycmmu.com/mini-mba-digital-business-4


---

แหล่งอ้างอิง

https://www.efinancethai.com/Fintech/FintechMain.aspx

https://thestandard.co/quantum-computer-1/



2,071 views0 comments

Comentários


bottom of page