Mega Sales Day เป็นชื่อเรียกเทศกาลลดราคา จัดโปรโมชันการขายสินค้าครั้งใหญ่ จัดกันอย่างต่อเนื่องหลายวัน
สำหรับชาวเอเชีย วันสำคัญทางการจับจ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือประเพณีเก่าแก่นั้นเพิ่งเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2009 โดย Alibaba ที่ตั้งใจโปรโมตแพลตฟอร์มขายสินค้าอย่าง Taobao ในวันคนโสด หรือวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนที่ 11 ของปีปฏิทินสากล ชวนให้ผู้คนที่ยังโดดเดี่ยวไร้คู่มาซื้อสินค้าคุณภาพดีราคาถูก ปลุกปลอบใจตัวเอง เลข 11.11 ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ จากในประเทศจีนและขยายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
12.12 หรือวันที่ 12 เดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ของปีปฏิทินสากล เกิดขึ้นตามมาติด ๆ ในปี 2012 ริเริ่มโดย Alipay ซึ่งทำตลาดกับร้านค้าเล็ก ๆ ธุรกิจขนาดย่อมซึ่งอาจจะขายสินค้าสู้บริษัทยักษ์ใหญ่ในเทศกาล 11.11 ไม่ได้ ประจวบเหมาะพอดีกับช่วงเวลาใกล้สิ้นปีที่คนมักมองหาของขวัญดี ๆ ให้กันและกัน
9.9 หรือวันที่ 9 เดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ของปีปฏิทินสากล เกิดขึ้นในปี 2016 เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในเอเชียเริ่มเข้าใจวิถีของ 11.11 มากขึ้น ทำให้มีการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และไต้หวัน นอกจากนี้ก็ยังมีเทศกาลลดราคาทุกต้นเดือนซึ่งวันที่ตรงกับเลขเดือน แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่าที่กล่าวมา
สำหรับชาวตะวันตก วันสำคัญทางการจับจ่ายที่คุ้นเคยกันดีอย่าง Black Friday ซึ่งเป็นคำเรียกวันลดราคาสินค้าแบบกระหน่ำสุดๆ จนทำให้ร้านค้าที่เคยขาดทุน บัญชีเคยติดตัวแดงกลายกลับมาเป็นสีดำทำกำไรได้อีกครั้ง โดยมักจะเป็นช่วงเวลาหลังวันขอบคุณพระเจ้า ก่อนจะถึงเทศกาลคริสต์มาสนั่นเอง นอกจากนี้ยังตามมาด้วย Cyber Monday ซึ่งเน้นไปที่การลดราคา จัดโปรโมชันสินค้าประเภทเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นหลัก
ลองซื้อ-เร่งขาย ทำนายสถิติ
ในปี 2020 กว่า 65% ของผู้บริโภคในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก ซื้อสินค้าอย่างน้อย 1 ชิ้นในช่วงเวลา Mega Sale Days
แสดงให้เห็นว่า นี่คือโอกาสสำหรับธุรกิจที่จะได้พบกับลูกค้าใหม่ รวมถึงการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ในช่วงเวลาที่ใคร ๆ ก็อยากเปิดใจลองใช้จ่ายในช่วงเวลาพิเศษแบบนี้
และกว่า 63% ของนักช้อปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงใจในระหว่างการใช้งานโซเชียลมีเดีย
เนื่องจากนักช้อปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าที่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากคุณภาพของสินค้าแล้ว ยังให้น้ำหนักกับช่องทางติดต่อกับร้านค้าเป็นอย่างมาก โดยให้ความสำคัญต่อความง่ายในการติดต่อสื่อสารถึง 91% และยิ่งเป็นผู้บริโภค Gen X ก็ยิ่งสบายใจที่จะใช้วิธีการส่งข้อความโต้ตอบกับร้านค้ามากกว่ากดปุ่มสั่งซื้อผ่านโปรแกรมเพียงอย่างเดียว
แม้ Tik Tok จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับความบันเทิง แต่ก็ให้ความสำคัญกับช่วงเวลา Mega Sale Days ด้วยเช่นกัน ทีมงานได้ทำแบบสำรวจเก็บข้อมูลเบื้องหลัง พบว่ากว่า 67% ของผู้ใช้งานตื่นเต้นกับเทศกาลลดราคาที่กำลังจะมาถึง และได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ใช้งานกว่าครึ่งซื้อสินค้าที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น แม้จะมีรายการสิ่งที่สนใจเตรียมไว้ก่อนแล้ว
ส่วนปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าในช่วง Mega Sale Days จากการสำรวจของ Facebook ในประเทศไทย พบว่า
คนไทยให้ความสำคัญกับราคาที่พึงพอใจมากที่สุด 81% รองลงมาคือ การไม่คิดค่าจัดส่ง 72% บริการหลังการขาย 71% และความรวดเร็วในการจัดส่ง 66%
https://www.tiktokmegasales.com/
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
Facebook และ Bain & Company ทำแบบสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างละเอียด เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าในช่วง Mega Sale Days
จากการสอบถามผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 3,919 คน ใน 6 ประเทศ พบว่ากว่า 91% ของผู้บริโภคสนใจซื้อสินค้าและบริการจากแบรนด์ที่ไม่เคยซื้อมาก่อน
นั่นหมายถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป มีการซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงต้นเดือน ซึ่งอาจไม่ได้มาจากความต้องการใช้งานจริง ๆ แต่อดไม่ได้เมื่อเห็นโปรโมชันลดราคา
โดยยอดการซื้อขายจะพุ่งขึ้นไปสูงสุดในช่วงวันที่ 11.11 ซึ่งเป็นช่วงปลายปีที่คนมองหาของขวัญให้คนใกล้ชิด หรือตั้งใจเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ในบ้านที่เป็นชิ้นใหญ่ ราคาสูง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งกระตุ้นให้นักช้อปหน้าใหม่สนใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากงานเสวนา GroupM FOCAL 2021 ชี้ให้เห็นว่าช้อปปิ้งออนไลน์ในไทยโตขึ้น 39%
คนไทยกว่า 71% ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ย ทุก ๆ 2 เดือน โดยใช้จ่ายผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 81%
แสดงให้เห็นว่านี่เป็นเพิ่งจุดเริ่มต้นเท่านั้น คาดการณ์กันว่าในปี 2025 ตลาดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในไทยจะขยายตัวจากปัจจุบันที่มีผู้ใช้งาน 36 ล้านราย เพิ่มเป็น 43 ล้านราย
แต่การกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่มิลเลนเนียลลงไป ซึ่งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ผลสำรวจมุมมองผู้บริโภคทั่วโลก (Global Consumer Insights Survey) ประจำปี 2021 โดย PwC เน้นย้ำว่าผู้บริโภคทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพยายามมองหาสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ผลิตจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์ตั้งใจมอบให้ทั้งคุ้มค่าต่อลูกค้าและความยั่งยืนต่อโลกจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กันไป ไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ---
เตรียมพร้อมสำหรับทุกแง่มุมการตลาดดิจิทัลด้วยหลักสูตรการบริหารการตลาดดิจิทัล รุ่น 3 Mini MBA - Digital Marketing Management #3 ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดหลักสูตรได้ที่
อ้างอิง
Comments