top of page
Writer's picturetriyuth promsiri

สังคมอายุยืน: วิกฤตหรือโอกาส?

Highlight

- ในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า ค่าเฉลี่ยการมีชีวิตของคนในโลกจะเพิ่มเป็น 90 ปี ผู้สูงอายุกำลังจะเป็น "ประชากรหลัก" ของโลก - ผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่จะอายุยืนอย่างมีคุณภาพมากขึ้น และเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและพึ่งพารายได้จาก Wealth มากกว่าการจ้างงานแบบคนหนุ่มสาว - ในปี 2032 มูลค่าของเศรษฐกิจอายุยืนในสหรัฐอเมริกา (Longevity Economy) จะพุ่งสูงถึง 13.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

- เมื่ออายุยืนขึ้น ความต้องการหลายด้านในชีวิตเปลี่ยนไป ตั้งแต่ ความต้องการด้านสุขภาพ การกิน การอยู่ การท่องเที่ยว การเงิน และการทำงาน ความต้องการที่เปลี่ยนไปทั้งระบบนำพามาซึ่งโอกาสใหม่ทางธุรกิจ


จาก "สังคมสูงอายุ" สู่ "สังคมอายุยืน" ในปี 2050 ค่าเฉลี่ยการมีชีวิตอยู่ของคนไทยจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 90 ปี ในปี 2040 คนไทยอายุ 70+ จะเพิ่มขึ้นเป็น 11.6 ล้านคน จาก 5.4 ล้านคนในปี 2020 และเป็นผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อจาก Wealth มากกว่าคนหนุ่มสาวที่พึ่งพารายได้จากการจ้างงาน

เมื่อก่อนเราอาจคุณชินกับคำว่า "สังคมสูงอายุ (Aging Society)" ซึ่งหมายถึง สังคมที่เต็มไปด้วยคนสูงอายุ เป็นสังคมที่ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลจากคนในวัยอื่น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานการณ์สังคมสูงอายุเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุจำนวนมากยังสามารถดูแลตนเองได้ และบางคนยังทำงานอยู่ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงผู้สูงอายุ ที่อายุยืนมากขึ้น คนไทยในวัยอื่นมีแนวโน้มที่จะ "อายุยืนขึ้น" เช่นเดียวกัน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TRDI) คาดการณ์ว่า คนไทยที่เกิดในปี 2559 มีแนวโน้มที่จะมีอายุยาวนานถึง 80-98 ปี ซึ่งเกือบ 100 ปี


จาก "สังคมสูงอายุ" จึงเปลี่ยนเป็น "สังคมอายุยืน" การก้าวสู่ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม เพราะทุกคนในสังคมกำลังที่จะมี "อายุยืน" มากขึ้น


เมื่ออายุยืนถึง 100? อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง?

คำถามใหญ่ที่ตามมา คือ เมื่ออายุยืนขึ้น ชีวิตหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเริ่มอายุประมาณ 60 ปี ประชากรไทยจะเริ่มพิจารณาถึงการเกษียณอายุการทำงาน และใชัชีวิตบั้นปลายไปตามที่ตนเองตั้งใจไว้ แต่ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการเกษียณ ผู้สูงอายุบางคนยังทำงานอยู่ หลายองค์กรเริ่มเล็งเห็นว่า บุคลากรผู้สูงอายุนั้น หลายท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ และสามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ในองค์กรได้ ไม่ได้มีเพียงการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน แม้จะอายุยืนมากขึ้น สภาวะทางร่างกายบางส่วนอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างที่เคยเป็น การใช้ชีวิตจึงต้องเปลี่ยนไป ตั้งแต่การกิน ผู้สูงอายุมีความจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารมากขึ้น ต้องใช้เวลาในการคัดสรรมากขึ้น ความต้องการด้านสุขภาพก็เปลี่ยนไป อาจต้องเปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ แม้แต่การท่องเที่ยวหรือกิจกรรมสันทนาการ ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความสะดวกและคล่องตัวตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่า การมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตในทุกส่วน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างการกิน การอยู่ การนอน ไปจนถึงการทำงานเปลี่ยนไป


6 โอกาสใหม่ทางธุรกิจ จากสังคมอายุยืน ผู้สูงอายุ กำลังเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญของโลก ในรายงาน "The Longevity Economy Generating economic growth and new opportunities for business" โดย Oxford Economics คาดการณ์ว่า ในปี 2032 มูลค่าของเศรษฐกิจอายุยืนในสหรัฐอเมริกา (Longevity Economy) จะพุ่งสูงถึง 13.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในมูลค่านี้นับรวมการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มผู้สูงวัย สำหรับประเทศไทย เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมอายุยืน ความต้องการใหม่ของลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน โดยสามารถแบ่งการเกิดขึ้นของโอกาสใหม่ได้เป็นทั้งหมด 6 โอกาส ได้แก่ 1. โอกาสทางธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ: เนื่องจากผู้สูงอายุ มีอายุยืนมากขึ้น การแพทย์ที่ต้องการมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่เป็นการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่เพื่อให้อายุยืนอย่างมีคุณภาพ 2. โอกาสทางธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม: ความสามารถในการรับรู้รสชาติ การเคี้ยว รวมถึงโภชนาการอาหารที่ผู้สูงอายุต้องการ มีความแตกต่างจากบุคคลในวัยอื่น ผู้สูงอายุต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน ในขณะเดียวกัน ยังคงต้องการรสชาติอาหารที่ถูกปาก 3. โอกาสทางธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์: ผู้สูงอายุในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่เป็นผู้สูงอายุแบบ Active มากขึ้น และยังคงมีความต้องการที่จะท่องเที่ยวและทำกิจกรรมสันทนาการ การออกแบบการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่น่าสนใจ 4. โอกาสทางธุรกิจด้านการเงินและประกันภัย: อายุที่ยืนนานมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนการเงินที่ระมัดระวังมากขึ้น ความต้องการทางการจัดการเงินและความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เป็นหนึ่งในความต้องการหลักของผู้สูงอายุ 5. โอกาสทางธุรกิจที่พักอาศัย: ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่พักผู้สูงอายุที่มีความต้องการมากขึ้น นวัตกรรมบ้านที่ทำให้ผู้สูงอายุยังสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลวัยอื่นในบ้านได้นั้นกำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ในบ้าน ไปจนถึงการออกแบบบ้านเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ 6. โอกาสทางธุรกิจด้านการทำงานของผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุ มีแนวโน้มที่จะทำงานยาวนานขึ้นในองค์กร และมีความต้องการในการปรับทักษะ หรือ Reskills มากขึ้น เป็นความท้าทายขององค์กร และ ภาคธุรกิจว่า จะทำอย่างไรถึงจะดึงศักยภาพสูงสุดของผู้สูงอายุออกมาได้ "สังคมอายุยืน" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสภาวะที่อาจดูเหมือนเป็นวิกฤต มีโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาลที่ซ่อนอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถ "พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส" ได้หรือไม่ #NEOBYCMMU #โอกาสใหม#โอกาสใหม่ในสังคมอายุยืน แหล่งอ้างอิง: เสวนา “สังคมสูงวัย: โอกาสของธุรกิจไทย” โดย สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ TDRI Annual Public Conference 2019 “อะไรจะเปลี่ยนไป... เมื่อไทยกลายเป็นสังคมอายุยืน?” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ The Longevity Economy: Generating Economic Growth and New Opportunities for Business by Oxford Economics

242 views0 comments

Commentaires


bottom of page